Select Page

มะเร็งตับอันตรายถึงชีวิต

Mar 30, 2021 | อ่านบทความทั้งหมด, บทความสุขภาพ, บทความล่าสุด

🔸บทความทางการแพทย์

มะเร็งตับเกิดจากเซลล์บริเวณตับมีการทำงานผิดปกติและพัฒนาเป็นมะเร็งในที่สุด ทั้งรี้มะเร็งตับแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

1. มะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์ของตับเอง

2. มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น มะเร็งลำไส้ลุกลามมาที่ตับ

สำหรับมะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์ตับเองก็จะประกอบด้วยมะเร็ง 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งพบมากในภาคเหนือและภาคอีสาน เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้มักพอในคนที่ชอบกิน ปลาร้า ปลาน้ำจืด หอยน้ำจืด ลักษณะ สุกๆดิบๆ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของพยาธิใบไม้ในตับ และมะเร็งอีกหนึ่งชนิด คือ Hepatocellular carcinoma (HCC) หรือเรียกอีกชื่อว่า เฮปาโตมา (Hepatoma) ซึ่งมักพบในภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี หรือแอลกอฮอล์ ซึ่งมะเร็งส่วนใหญ่ก็มักมีที่มาจากสาเหตุนี้

ลักษณะอาการของมะเร็งตับ

ผู้ป่วยมะเร็งตับมักไม่แสดงอาการจนกว่าจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมากซึ่งเป็นระยะที่ยากต่อการรักษา สำหรับอาการของมะเร็งตับ ในระยะเริ่มต้นของโรคอาจยังไม่มีอาการใด ๆ แต่หากมีอาการแน่นท้องในตำแหน่งลิ้นปี่หรือชายโครงขวา น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ตาเหลือง ปวดไหล่ข้างขวา ที่ไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ เนื่องจากมะเร็งมีขนาดใหญ่และลุกลามไปบริเวณกระบังลม อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวไหล่ได้ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าปวดกล้ามเนื้อแต่จริงๆ แล้วมีก้อนอยู่ที่ตับ หากมีอาการข้างต้นต้องรีบมาพบแพทย์โดยด่วน

ขั้นตอนการตรวจหามะเร็งตับ

  1. แพทย์ทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย
  2. ตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับและค่ามะเร็งตับรวมถึงไวรัสตับอักเสบบีและซี
  3. ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ไฟฟ้า (CT Scan) หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การรักษาโรคมะเร็งตับ

  1. การรักษามะเร็งตับนั้นจะขึ้นกับการทำงานของตับและการลุกลามของมะเร็งและสภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วย ทั้งนี้การผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกยังคงเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ถ้าสภาพทั่วไปของผู้ป่วยพร้อมที่จะผ่าตัดและก้อนมะเร็งไม่ลุกลามอีกทั้งการทำงานของตับดีพอ
  2. การปลูกถ่ายตับสามารถทำได้ในกรณีของมะเร็งชนิดเฮปาโตมาในระยะเริ่มแรกและมีภาวะตับแข็งแรงจนไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนออกได้
  3. การใช้เข็มความร้อนเฉพาะที่เรียกว่า RFA (radiofrequency ablation) เป็นการทำลายเนื้องอกด้วยความร้อนโดยใช้เข็มแทงเข้าไปในก้อนทที่มีขนาดเล็กและอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
  4. การให้ยาเคมีบำบัดทางเส้นเลือดดำในมะเร็งท่อน้ำดีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือมะเร็งจากอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายมาที่ตับ

การป้องกันมะเร็งท่อน้ำดีและมะเร็งตับ

  1. หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์แบบสุกๆดิบๆ หากต้องการรับประทานปลาร้าควรเป็นปลาร้าที่ต้มสุก
  2. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ
  3. มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยเนื่องจากไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งเฮมาโตมา สามารถติดติ่ทางเลือดและเพศสัมพันธ์

นพ. เจษฎ์ ศุภผล 

แพทย์ศัลยกรรมโรคตับ ตับอ่อน ทางเดินน้ำดีและปลูกถ่ายอวัยวะ, ศัลยกรรมทั่วไป