มะเร็งทางนรีเวชที่สำคัญและพบได้บ่อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งโพรงมดลูก และมะเร็งรังไข่ นอกเหนือจากนี้มะเร็งทางนรีเวชที่สามารถพบได้ แต่ไม่บ่อยเท่ามะเร็งข้างต้นได้แก่ มะเร็งมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด และมะเร็งเนื้อรก
ส่วนใหญ่ผู้หญิงในประเทศไทยจะเป็นมะเร็ง มะเร็งเต้านม ยังเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับหนึ่งทั้งของประเทศไทยและทั่วโลก โดยอันดับสองรองลงมาในส่วนของมะเร็งทางนรีเวชก็จะเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งโพรงมดลูก และมะเร็งรังไข่ ตามลำดับอายุที่มีโอกาสเกิดมะเร็งทางนรีเวช ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆปัจจัยและชนิดของมะเร็งนั้นๆ โดยเมื่อประมาณอายุโดยเฉลี่ยแล้วนั้น
มะเร็งปากมดลูก พบว่ามักวินิจฉัยเจอในช่วงอายุ 35-55ปี
มะเร็งโพรงมดลูก มักพบในคนไข้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป
มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว พบได้บ่อยในช่วงอายุ 55-64ปี
มะเร็งเต้านม
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องอายุที่มากกว่า50ปี พันธุกรรม (มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม) การกลายพันธุ์ของยีนBRCA มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านมขึ้นข้างหนึ่งก่อนหน้า ผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนไวกว่าคนทั่วไป ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน ผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์และโรคอ้วน
ลักษณะอาการ จะสามารถแสดงออกมาได้หลายลักษณะ ทั้งในลักษณะ คลำได้ก้อน มีน้ำหรือเลือดไหลจากหัวนม เต้านมผิดรูป หัวนมบุ๋ม ผิวของเต้านมขรุขระ เจ็บตึงเต้านมหรือหัวนม เต้านมมีลักษณะบวมแดงหรือมีแผล
การป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็ง และตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ คือการตรวจเต้านมโดยการคลำได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และแนะนำการตรวจคัดกรองด้วย Mammography ตั้งแต่อายุ 40 ปี
การรักษา เมื่อได้รับการยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแล้ว การรักษาจะรักษาโดยศัลยแพทย์ ซึ่งจะมีแนวทางการรักษาขึ้นกับระยะของโรค และระดับความเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งมีทางเลือก ทั้งการผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด การใช้ฮอร์โมนรักษา การใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะต่อเซลล์มะเร็ง
มะเร็งปากมดลูก
สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก คือการติดเชื้อ HPVชนิดก่อมะเร็ง โดยชนิดที่เป็นสาเหตุหลัก คือ HPV 16,18 ซึ่งส่วนใหญ่การติดเชื้อ HPV จะเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อ HPV และส่วนมากจะไม่แสดงอาการ ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ปากมดลูกมีโอกาสติดเชื้อ HPV ได้มากขึ้นหรือง่ายขึ้น เช่น การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย การมีลูกหลายคน มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การสูบบุหรี่ การกินยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน
ลักษณะอาการ ในระยะเริ่มแรกมักไม่แสดงอาการ แต่อาจตรวจพบจาการตรวจPAP smear อาการที่มักพบมากที่สุดคือ เลือดออกทางช่องคลอด เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวปนเลือด เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน หากมะเร็งมีการลุกลามแล้ว อาจมีอาการทางเดินปัสสาวะอุจจาระผิดปกติ ได้แก่ ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ถ่ายลำบาก
การป้องกัน สามารถทำได้ตั้งแต่การป้องกันไม่ให้ปากมดลูกติดเชื้อ HPV เช่นการละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางอนามัย การมีคู่นอนคนเดียว และการฉีดวัคซีน HPV vaccine และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นระยะ คือ PAP smear หรือ PAP test ร่วมกับ การหาเชื้อHPV(HPV DNA testing)
การรักษา การรักษาขึ้นกับระยะของมะเร็งปากมดลูก โดยในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาโดยการผ่าตัดได้ แต่หากเลยระยะเริ่มต้นไปแล้ว การรักษามีทั้งรักษาโดยการผ่าตัดอย่างเดียว รักษาโดยการผ่าตัดและฉายแสง และรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสง
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ได้แก่ การมีเอสโตรเจนเกิน เช่นการรักษาสตรีวัยหมดประจำเดือนด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริมลำพัง หรือ ภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง โรคอ้วน โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง การถ่ายทอดทางพันธุกรรมในครอบครัว ภาวะไม่เคยมีบุตร การมีประจำเดือนยาวนาน
ลักษณะอาการ มักแสดงออกในลักษณะการมีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก สตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีเลือดออกผิดปกติ สตรีวัยก่อนหมดประจำเดือนที่มีเลือดออกระหว่างรอบเดือน หรือมีประจำเดือนมากผิดปกติ
การป้องกัน แนะนำโดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดีงที่ได้กล่าวในข้างต้น และมาเข้ารับการตรวจภายในประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และหากมีอาการผิดปกติ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ
การรักษา การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก คือการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อที่สามารถบอกระยะของโรค และอาจมีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และการฉายแสงตามมา ซึ่งขึ้นกับระยะและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆของโรค
ปัจจุบันความรู้และการประสัมพันธ์เรื่องการดูแลสุขภาพร่างกายที่น่าเชื่อถือ มีมากมายหลากหลาย อยากให้ทุกๆคน ใส่ใจสุขภาพ ศึกษาความรู้เหล่านี้ เพราะการป้องกันโรคขั้นแรกที่สำคัญก็คือการได้รับความรู้และนำความรู้ที่ได้ไปดูแลตัวเอง ที่สำคัญการออกกำลังกายก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรง อันจะนำไปสู่การป้องกันโรคได้ในหลายๆโรค และที่ขาดไม่ได้การมาตรวจร่างกาย ตรวจสุขภาพประจำปีกับแพทย์ ก็เป็นสิ่งที่สามรถตรวจคัดกรองโรค และป้องกันการเกิดโรคร้ายแรงในอนาคตได้
พญ.สุปรีย์ บูรณะวงศ์ตระกูล
แพทย์สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา, สูตินรีเวชกรรมมะเร็งนรีเวชวิทยา